294/1 Asia Building (11th Floor), Phyathai, Bangkok
โรคเริม / Herpes
โรคเริม คืออะไร
โรคเริม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Herpes Simpextype 1, Herpes Simplex type 2
สาเหตุ
เริมสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรงผ่านทางผิวหนังและเยื่อบุผิว เช่น แผลเริม องคชาต ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ช่องปาก ลำคอเมื่อติดไวรัสเริมมาแล้ว
อาการ
ไวรัสเริมมีระยะฟักตัวประมาณ 3-20 วันแผลเริมที่เกิดขึ้นที่ปากหรืออวัยวะเพศหรือทวารหนักจะมีลักษณะคล้ายกัน คือ เป็นตุ่มน้ำใส มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่เป็นแผล ในกรณีที่เป็นครั้งแรกอาการจะหายช้ามาก หากเป็นซ้ำอาการจะไม่รุนแรงเท่ากับครั้งแรกแผลเริมสามารถหายเองได้ภายใน 10-14 วัน แต่เชื้อจะยังไม่หายไป จะอยู่ที่ปลายประสาทใต้ผิวหนัง เมื่อร่างกายอ่อนแอลงหรือมีปัจจัยกระตุ้นก็จะมีแผลตุ่มน้ำใสขึ้นมาอีกได้
การวินิจฉัย
โรคเริมสามารถวินิจฉัยด้วยการตรวจโดยแพทย์และสามารถส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ เช่น การตรวจเลือด การเพาะเชื้อ
การรักษา
โรคเริมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อแผลเริมหายแล้ว ไวรัสจะอยู่ที่ปลายประสาทใต้ผิวหนัง เมื่อร่างกายอ่อนแอลงหรือมีปัจจัยกระตุ้นก็จะมีแผลตุ่มน้ำใสขึ้นมาอีกได้ การรักษาโรคเริมมีทั้งยากินและยาทาเพื่อบรรเทาอาการและลดความรุนแรงของโรค
การป้องกัน
ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หากมีความเสี่ยงก็ควรรีบมาตรวจเลือดและรีบทำการรักษาเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น
เริม (Herpes) คืออาการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) โดยเชื้อไวรัสเริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 1 (Herpes Simplex Virus type 1: HSV-1)
- เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ชนิดที่ 2 (Herpes Simplex Virus type 2: HSV-2)
โดยเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้จะก่อให้เกิดอาการ เริมที่ปาก (Herpes Simplex) และเริมที่อวัยวะเพศ (Gential Herpes) และสามารถติดต่อกันระหว่างคนสู่คนได้โดยผ่านทางการสัมผัสอย่างใกล้ชิด ทางน้ำลาย น้ำเหลือง หรือผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้
เริมเป็นโรคผิวหนังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเหล่านี้จะยังคงอยู่ในร่างกายแม้อาการจะสงบลงแล้ว และกลับมาแสดงอาการอีกหากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ
อาการของเริม
โดยรวมแล้วอาการของเริมที่ปาก และเริมที่อวัยวะเพศนั้นค่อนข้างคล้ายกัน โดยจะมีตุ่มน้ำใสบริเวณที่ติดเชื้อ ได้แก่ ปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก บั้นท้าย หรือต้นขา มีอาการเจ็บปวด แสบที่บริเวณแผล หากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการค่อนข้างรุนแรงและหายช้า แต่ถ้าหากเป็นการติดเชื้อซ้ำ อาการจะไม่รุนแรงและหายได้เร็วกว่า
สาเหตุของเริม
เริมมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus: HSV) เชื้อไวรัสดังกล่าวแบ่งออกเป็น อีก 2 ชนิดย่อย ๆ คือ HSV-1 และ HSV-2 ซึ่งสามารถติดต่อกันได้จากคนสู่คนผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง ผ่านทางการสัมผัสกับแผล และการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือทางเพศสัมพันธ์และกิจกรรมทางเพศที่ไม่มีการป้องกัน รวมถึงการใช้ของเล่นทางเพศร่วมกันก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้อีกด้วย
การวินิจฉัยเริม
โรคเริมสามารถวินิจฉัยด้วยการตรวจโดยแพทย์ แต่ถ้าหากแพทย์ไม่แน่ใจว่าใช่อาการของเริมหรือไม่แพทย์ก็อาจจะมีการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม เช่น การตรวจเลือด การเพาะเชื้อ เนื่องจากอาการของเริมนั้นค่อนข้างคล้ายกับโรคอื่น ๆ อาทิ โรคงูสวัด แผลร้อนใน การติดเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาเริม
ปัจจุบันโรคเริมยังคงเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วการรักษาโรคเริมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- การบรรเทาอาการเจ็บปวด โดยแพทย์อาจสั่งยาบรรเทาอาการปวด ซึ่งแผลจากโรคเริมจะสามารถหายเองได้ภายในเวลา 2-6 สัปดาห์
- การควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส โดยปกติแล้วเมื่อมีอาการของโรคเริม แพทย์มักจะสั่งใช้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และช่วยลดความรุนแรงของอาการ โดยยาเหล่านี้จะอยู่ในรูปของยาชนิดรับประทาน นอกจากนี้ ยาที่มีส่วนประกอบของอะไซโคลเวียร์ที่อยู่ในรูปแบบครีมสำหรับทา ก็ยังนิยมนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการของเริมในขณะที่เป็นได้ด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของเริม
ไม่ว่าจะเป็นเริมที่ปากหรือเริมที่อวัยวะเพศ ก็สามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยการติดเชื้ออาจลุกลามไปที่อวัยวะอื่น ๆ เช่นการติดเชื้อที่บริเวณดวงตาทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอด หรือในกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ก็อาจเกิดติดเชื้อที่สมองจนทำให้เกิดสมองอักเสบได้
ไม่เพียงเท่านั้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นสตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ และมีอาการแสดงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด เด็กทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กได้ทั้ง 2 ชนิดในขณะคลอดซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอาจร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นสตรีมีครรภ์ที่เคยมีการติดเชื้อของเริมควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
การป้องกันเริม
วิธีการป้องกันเริมที่ดีที่สุด ก็คือการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงอย่างการหอมแก้ม และการจูบ นอกจากนี้การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัยก็สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ได้
สำหรับผู้ป่วยที่เคยมีการติดเชื้อมาก่อนแล้ว ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเนื่องจากเชื้อไวรัสจะโจมตีร่างกายเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ถ้าหากมีสุขภาพที่แข็งแรงก็จะช่วยให้การติดเชื้อลดลงได้
Make Appointment