294/1 Asia Building (11th Floor), Phyathai, Bangkok
ไวรัสตับอักเสบซี / Hepatitis C
ไวรัสตับอักเสบ ซี เป็นโรคมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี (HCV) โดยสามารถติดต่อกันได้ทางเลือด หรือการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้หากไม่ได้ทำการรักษา สามารถทำให้เกิดผลที่รุนแรงต่อตับตามมา โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเรื้อรัง มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคตับที่รุนแรงหรือมะเร็งตับได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยการแพทย์และการรักษาในปัจจุบันที่ทันสมัย อาจสามารถรักษาให้หายได้ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะสามารถควบคุมอาการและดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติ
อาการของไวรัสตับอักเสบ ซี
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี จะไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้เพราะว่าไม่มีอาการแสดงชัดเจน ซึ่งจะพบว่ามีอาการแสดงแล้วก็ต่อเมื่อตับได้รับความเสียหายมากแล้วนั่นเอง
ไวรัสตับอักเสบ ซี ระยะเฉียบพลัน มีอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้หรืออุณหภูมิในร่างกายสูงถึง 38 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบาย
- ไม่อยากอาหาร หรือเบื่ออาหาร
- ปวดช่องท้อง
- ผู้ป่วยในบางรายอาจมีอาการตัวเหลืองและตาเหลือง
มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อย ที่จะมีอาการแสดงให้เห็นในช่วงระยะ 6 เดือนแรกที่ได้รับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดง อาการนั้น ๆ ก็จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อ นอกจากนั้น ในผู้ป่วยบางราย สามารถหายได้เองโดยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้เองในระยะเวลาไม่กี่เดือน และผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงเพิ่มเติม นอกจากจะได้รับการติดเชื้ออีกครั้ง ในผู้ป่วยที่ยังมีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายปี จะพัฒนาเกิดเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี แบบเรื้อรัง
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี ระยะเรื้อรัง จะไม่แสดงอาการจนกว่าตับจะถูกทำลายอย่างรุนแรงแล้วอาการจึงจะปรากฏ ส่วนมากจะปรากฏหลังจากที่ได้รับการติดเชื้อไปแล้วประมาณ 10 ปี ซึ่งอาการที่พบได้มีดังต่อไปนี้
- รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- รู้สึกป่วย ไม่สบาย เป็นไข้
- มีปัญหาเกี่ยวกับความจำในระยะสั้น สมาธิ และความคิดไม่แจ่มใส
- อารมณ์แปรปรวน
- ภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล
- อาการอาหารไม่ย่อย หรือท้องอืด
- น้ำหนักลด
- ปวดช่องท้อง
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- ผื่นคันตามผิวหนัง
- เลือดออกง่ายและเกิดรอยช้ำ
- มีการบวมที่ขา
ในระยะเรื้อรังนี้ หากไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อสามารถทำให้เกิดโรคตับที่รุนแรงได้ เช่น ตับแข็ง โดยสัญญาณและอาการของตับแข็ง ได้แก่ ตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) หรือภาวะมีน้ำในช่องท้อง (ท้องมาน) หากสงสัย ควรไปพบแพทย์เพื่อวินัจฉัยโรคและทำการรักษาต่อไป
สาเหตุของไวรัสตับอักเสบ ซี
โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีการติดเชื้อจากทางเลือด เช่น ได้รับเลือดก่อนปีพ.ศ. 2535 เพราะว่าในช่วงนั้นประเทศไทยยังไม่สามารถคัดกรองเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ได้ดีพอ การเสพยาเสพติดด้วยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน มีคู่นอนหลายคน ในกรณีนี้จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้น้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและชาย ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่า รวมถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย รวมไปถึงสาเหตุอื่น ๆ เช่น การเจาะหูหรือสักลายตามร่างกายโดยใช้เครื่องมือที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อให้ถูกต้อง แม้กระทั่งการใช้แปรงสีฟัน กรรไกร หรือที่ตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น ก็เพิ่มโอกาสในการได้รับเชื้อได้มากขึ้น สำหรับสาเหตุที่มาจากแม่ตั้งครรภ์สู่ลูกนั้น พบว่ามีโอกาสเป็นไปได้แต่ว่าน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ไม่ติดต่อทางการรับประทานอาหารร่วมกัน การใช้จามชามช้อนส้อมด้วยกัน การให้นมบุตร การกอด หรือการจูบ ร่วมถึงไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส หรือไอ จาม รดกัน
การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ ซี
หากคิดว่ามีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ควรรีบพบแพทย์ โดยจะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ หากพบว่ามีเชื้อ แพทย์ก็จะให้ทำการตรวจเลือดในขั้นต่อไป คือ ตรวจเลือดหาปริมาณไวรัสในเลือด (Viral Load) และตรวจหาสายพันธ์ุของไวรัส ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถหาทางรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับผู้ป่วยได้
การรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี
การรักษาไวรัสตับอักเสบ ซี อาจทำให้หายขาดได้ด้วยยา ทั้งการฉีดยาร่วมกับยารับประทาน โดยแพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ พยาธิสภาพที่ตับ และลักษณะของผู้ป่วย ก่อนให้การรักษาพยาบาลต่อไป
หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเพียงระยะเริ่มแรกหรือระยะเฉียบพลัน การรักษาอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มในทันที เพราะร่างกายอาจกำจัดเชื้อไวรัสไปได้เอง ซึ่งจะมีการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบความเป็นไปของโรค แต่หากโรคดำเนินไปเป็นระยะเวลานานหลายเดือน หรือที่เรียกว่าไวรัสตับอักเสบ ซี ระยะเรื้อรัง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการรักษา การรักษาจะได้ผลแตกต่างกันออกไป โดยจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วย
ภาวะแทรกซ้อนของไวรัสตับอักเสบ ซี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ที่เป็นอย่างต่อเนื่องนานหลายปี หรือป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรังที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของไวรัสตับอักเสบ ซีได้ เช่น
- ตับแข็ง (Cirrhosis) มักเกิดหลังจากที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี มาแล้ว 20-30 ปี โดยตับจะเกิดการอักเสบและถูกทำลายจนทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ปกติ
- มะเร็งตับ (Liver Cancer) มีผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่มีการอักเสบของตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบ ซี แล้วจะพัฒนาเป็นมะเร็งตับ แต่ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้
- ตับวาย (Liver Failure) หากเป็นตับแข็งที่มีความรุนแรงมากแล้วอาจทำให้ตับหยุดการทำงานได้
การป้องกันไวรัสตับอักเสบ ซี
ไวรัสตับอักเสบ ซี ไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนกับไวรัสตับอีกเสบ เอ และบี แต่สามารถป้องกันตัวเองจากไวรัสตับอักเสบ ซี ได้ง่าย ๆ โดยที่สำคัญมี 3 สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงและระมัดระวัง ได้แก่
- อย่าใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ติดยาเสพติดที่ใช้ฉีดเข้าเส้น เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี รวมไปถึงโรคร้ายอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่า
- ให้ระมัดระวังในการเจาะหูหรือสักตามร่างกาย หากเลือกแล้วที่จะทำ ก็ควรเลือกร้านที่ไว้ใจได้ มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์อย่างถูกหลักอนามัย โดยเฉพาะเข็มที่ใช้ต้องผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
- อย่าเสี่ยงกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน โดยเฉพาะการมีคู่นอนหลายคน หรือคู่นอนที่ไม่รู้และไม่แน่ใจเกี่ยวกับสุขภาพของเขา ทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อมากขึ้น
นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไป รวมไปถึงลดหรือเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ และดูแลสุขภาพจากการรับประทานหรือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
ที่มา : https://www.pobpad.com/ไวรัสตับอักเสบ-ซี
ตับเป็นอวัยวะสำคัญในการจัดการสารอาหาร, กรองของเสียในเลือด, และช่วยต่อสู้กับภาวะติดเชื้อ ภาวะตับอักเสบจึงอาจทำให้การ ทำงานของตับบกพร่องได้ การอักเสบของตับอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไวรัสตับอักเสบ, การดื่มแอลกอฮอลล์, สารพิษ, ยาบางชนิด, หรือโรค ทางกายบางอย่างที่มีภาวะตับอักเสบร่วมด้วย
ไวรัสตับอักเสบซีคืออะไร
ไวรัสตับอักเสบซีสามารถทำให้เกิดโรคตับที่รุนแรงและเรื้อรังได้ การติดเชื้อแบ่งเป็นแบบเฉียบพลัน (acute infection) ซึ่งเกิดขึ้นภายในหกเดือนแรกหลังได้รับเชื้อ และแบบเรื้อรัง (chronic infection) ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะตับแข็ง, ภาวะตับวาย, และมะเร็งตับ
สาเหตุของการติดเชื้อ
ไวรัสตับอักเสบซีสามารถติดต่อได้หลายวิธีช่องทาง กล่าวคือ
- เพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- ติดต่อผ่านจากแม่สู่ลูกในช่วงแรกคลอด
- การสักหรือเจาะ (piercing) ที่ไม่สะอาด
- การได้รับเลือด
- การปลูกถ่ายอวัยวะ
อาการ
คนไข้ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมักไม่แสดงอาการและมักจะไม่รู้ตัวเองว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ เมื่อมีอาการ คนไข้อาจรู้สึก อ่อนเพลีย, มีไข้, เบื่ออาหาร, คลื่นไส้, อาเจียน, ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม, อุจจาระสีซีด, และอาจจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลืองร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยภาวะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ทำได้โดยการตรวจเลือดหาแอนติบอดี้ต่อไวรัส (Hepatitis C antibody) และถ้าการตรวจ แอนตีบอดี้ให้ผลบวกจึงควรตรวจยืนยันด้วยการหาปริมาณไวรัสในเลือด (Hepatitis C viral load)
การรักษา
การรักษาไวรัสตับอักเสบซีขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ยาต้านไวรัสสำหรับไวรัสตับอักเสบซีได้มีการพัฒนาไปอย่างมากในปัจจุบันจน สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ดังนั้นคนไข้จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการรักษาไวรัสชนิดนี้ เพื่อให้เข้าใจถึงทาง เลือกในการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเอง
การป้องกัน
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับไวรัสตับอักเสบซี ดังนั้นคำแนะนำสำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จึงประกอบด้วย
- หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ข้าวของส่วนตัวร่วมกับผู้มีเชื้อไวรัส เช่น มีดโกน, แปรงสีฟัน, และกรรไกรตัดเล็บ
- หลีกเลี่ยงการสักหรือเจาะอวัยวะของร่างกาย (piercing) ในสถานที่ที่ไม่มีมาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันกับผู้ที่มีเชื้อไวรัส
Make Appointment