294/1 Asia Building (11th Floor), Phyathai, Bangkok
อาการของเอดส์เป็นอย่างไร ทำความรู้จักกับเอดส์

เอดส์ คืออะไร
แท้จริงแล้วเอดส์ไม่ใช่โรค หากแต่คือระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV ซึ่ง HIV นั่นเองคือไวรัสที่ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเซลล์หลักที่ถูกเล่นงานโดยไวรัสก็คือเม็ดเลือดขาว CD4 ซึ่งเป็นเซลล์ที่บัญชาการระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเอดส์ในภาษาอังกฤษก็คือ AIDS ย่อมาจาก Acquired immunodeficiency syndrome
กำเนิดของการเรียกชื่อว่าเอดส์
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1981 ในวารสารของกรมควบคุมโรค ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่ามีเกย์หนุ่ม 5 คนมีอาการปอดอักเสบจากเชื้อรา และได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ Los Angeles โดย 2 รายเสียชีวิต และนอกจากนี้ทั้ง 5 คนยังพบการติดเชื้อไวรัส CMV และมีเชื้อราในช่องปากร่วมด้วย ซึ่งเชื้อต่าง ๆ ที่เล่ามานั้นมักเจอในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในขณะนั้นโลกยังไม่ได้รู้จักกับไวรัส HIV ว่าเป็นสาเหตุตั้งต้นของสิ่งที่เกิดขึ้น การเรียกภาวะนี้ในยุคแรกจึงได้เรียกว่า AIDS หรือ “เอดส์” ซึ่งย่อมาจาก acquired immunodeficiency syndrome
อาการของเอดส์แตกต่างกับ HIV ยังไง
เอดส์คือชื่อระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV โดยทั่วไปเราแบ่งการติดเชื้อ HIV เป็น 3 ระยะซึ่ง ระยะแรกมักเกิดขึ้นใน 2-4 สัปดาห์แรกหลังได้รับเชื้อ ซึ่งคนไข้อาจมีอาการเจ็บคอ, มีไข้, ปวดเมื่อยตัว, หรืออาจมีผื่นร่วมด้วย ระยะที่ 2 เรามักเรียกว่าระยะไม่มีอาการ เนื่องจากเป็นระยะที่เชื้อไวรัสหลบซ่อนอยู่ในร่างกายและภูมิคุ้มกันยังไม่มีปัญหา จนมาถึงระยะที่ 3 ที่เราเรียกกันว่า “เอดส์” ซึ่งเป็นระยะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจจะเริ่มมีอาการของเอดส์ได้บ้างหลังจากที่ภูมิคุ้มกันเริ่มตกลง (ค่า CD4 ต่ำกว่า 350) และอาการชัดเจนมากขึ้นเมื่อ CD4 ต่ำกว่า 200 ซึ่งเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากระยะเอดส์ ร่างกายก็ไวต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสหรือที่เรียกว่า opportunistic infection และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โรคอาจดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเสียชีวิตได้ในระยะเวลาไม่กี่เดือน
อาการของเอดส์มีอะไรบ้าง
เนื่องจากอาการของเอดส์ค่อนข้างที่จะหลากหลาย และมักขึ้นอยู่กับโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบร่วมด้วย ในระยะเอดส์เป็นระยะที่ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกายมากขึ้น โดยการเพิ่มจำนวนของไวรัสเองนั้นก็อาจจะทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อรู้สึกอ่อนเพลีย, มีไข้เรื้อรัง, ต่อมนำ้เหลืองโตขึ้น, รวมถึงท้องเสียเป็น ๆ หาย ๆ บางรายอาจมีผื่นคล้ายตุ่มยุงกัดเป็น ๆ หาย ๆ ตามแขนขา ซึ่งเป็นอาการที่เจอบ่อยในคนไทย
ส่วนโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เราพบบ่อยในระยะเอดส์นั้นก็คือวัณโรค ซึ่งอาการของวัณโรคปอดก็คือไอเรื้อรัง ในรายที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องมากขึ้นก็อาจจะพบไข้เรื้อรัง, เบื่ออาหารและน้ำหนักลดร่วมด้วย อีกโรคที่บ่งบอกถึงปัญหาของภูมิคุ้มกันก็คืองูสวัด ซึ่งมีอาการนำมาด้วยตุ่มน้ำตามบริเวณต่าง ๆ โดยมักมีอาการแสบร้อนที่ตุ่มน้ำนำมาก่อน
โรคติดเชื้อต่อมาที่พบได้บ่อยเมื่อภูมิคุ้มกันบกพร่องก็คือเชื้อราในช่องปาก ซึ่งคนไข้มักจะเข้ามาตรวจด้วยฝ้าในปากเป็น ๆ หาย ๆ หลายครั้งที่คนไข้เองไม่รู้ตัวด้วยซ้ำเพราะไม่ได้ส่องดูในช่องปาก บางรายก็อาจจะมีแผลที่มุมปาก ทำให้วินิจฉัยผิดไปว่าเป็นปากนกกระจอก ทั้งที่จริง ๆ แล้วสาเหตุคือเชื้อรากลุ่ม candida
นอกจากนี้เมื่อภูมิคุ้มกันบกพร่องมากขึ้น ร่างกายจะไวต่อเชื้อราชนิดที่ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ซึ่งอาการอาจจะไม่ต่างจากปอดอักเสบจากโควิดที่เราเจอในปัจจุบัน แปลว่าผู้อยู่ร่วมกับเชื้อจะมีไอแห้ง ๆ, เหนื่อยง่าย, ค่าออกซิเจนปลายนิ้วต่ำผิดปกติ
อาการเริ่มต้นของโรคเอดส์สังเกตจากอะไรได้บ้าง
เมื่อภูมิคุ้มกันเริ่มตกลงจนเข้าสู่ระยะเอดส์ ร่างกายจะอ่อนแอลงเนื่องจากไวรัสมีจำนวนมากขึ้นและเซลล์ CD4 ที่ควบคุมภูมิคุ้นกันในร่างกายมีปริมาณลดลง โดยอาจสังเกตได้ว่ามีอาการไอเรื้อรัง, ไข้เป็น ๆ หาย ๆ, ท้องเสียเป็น ๆ หาย ๆ, รวมถึงน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยบางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองโต รวมทั้งตุ่มยุงกัดตามแขนขาร่วมด้วย
ตรวจเอดส์ต้องทำยังไงบ้าง
เมื่อสงสัยว่ามีอาการของเอดส์แล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการตรวจเลือดหาเชื้อ HIV เพื่อคอนเฟิร์มว่ามีการติดเชื้อ HIV จริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ควรต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ
ถ้าผลเลือดบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ HIV จริง ก็จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินภูมิคุ้มกัน (CD4) และปริมาณไวรัส (HIV viral load) นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส, ไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น การตรวจหาโรคติดเชื้อฉวยโอกาสนั้นเราสามารถประเมินได้ด้วยการตรวจเลือดหาเชื้อราหรือเชื้อไวรัสบางชนิด และเอกซ์เรย์ปอดเพื่อมองหาวัณโรค
เอดส์รักษาได้แต่ไม่หายขาด
เนื่องจากเอดส์เกิดจากการติดเชื้อ HIV การรักษาหลักก็คือการเริ่มยาต้านไวรัส HIV ซึ่งวิวัฒนาการของยาต้านไวรัส HIV จากอดีตจนถึงปัจจุบันมายาวนานกว่า 30 ปี จนทำให้ยาต้านไวรัสเดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายเหมือนยาที่ใช้ 10-20 ปีก่อน นอกจากนี้ยังกินแค่เม็ดเดียววันละครั้ง ไม่ได้กินครั้งละหลายเม็ดหรือในอดีต ทำให้สะดวกต่อการกินยา หลังจากได้รับยาต้านไวรัสจนเมื่อไวรัสตรวจไม่พบในเลือด หรือที่เรียกว่า undetectable ภูมิคุ้มกันจะเริ่มแข็งแรงขึ้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยลง
การรักษาของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบร่วมกับระยะเอดส์ก็จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสเฉพาะที่เหมาะสมกับแต่ละปัญหาของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ ซึ่งมีความยากง่ายต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละเชื้อ และภูมิคุ้มกันของแต่ละคน
ปรึกษาและรับการรักษาเอดส์ ได้ที่ Glove Clicnic
สรุปอาการของเอดส์
เอดส์เป็นระยะที่ 3 ของการติดเชื้อ HIV ซึ่งเกิดเมือภูมิคุ้มกันบกพร่องจนทำให้ร่างกายไวต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสนานาชนิด อาการของเอดส์จึงค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับเชื้อฉวยโอกาสชนิดนั้น ๆ ดังนั้นการตรวจแต่เนิ่น ๆ เมื่อสงสัยว่าอาจเป็นอาการของเอดส์จึงนำไปการสู่การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อได้รับยาต้านไวรัสก็จะทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ในทางกลับกัน หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษาในระยะอันเหมาะสมก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
Make Appointment





Relate content :

ช่องคลอดอักเสบ: สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเพศสัมพันธ์
กำลังเผชิญกับปัญหาช่องคลอดอักเสบ? บทความนี้จะไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ยา PEP (เป๊ป) ราคาแพงไหม
ต้องการยา PEP? บทความนี้จะบอกทุกสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับยา PEP ตั้งแต่ราคา วิธีการใช้ ไปจนถึงสถานที่หาซื้อ
การรักษา HIV คู่มือสำหรับผู้มีความเสี่ยง
อย่าปล่อยให้ HIV ควบคุมชีวิตคุณ! คลิกอ่านเพื่อเรียนรู้วิธีดูแลตัวเองและมีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมเคล็ดลับดูแลสุขภาพ
ชุดตรวจ HIV ตรวจได้เองที่บ้าน
ชุดตรวจ HIV หรือ HIV self-test เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บุคคลสามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเบื้องต้นด้วยตนเองได้ที่บ้านหรือสถานที่ที่สะดวก โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล การตรวจ HIV ด้วยตนเองเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ยาเพร็พ (PrEP) ป้องกันเอชไอวีได้จริงหรือ? มาไขข้อข้องใจกัน
ปกป้องตัวเองจาก HIV ด้วยยาเพร็พ (PrEP) เพิ่มความมั่นใจในชีวิตด้วยการป้องกันที่ได้ผล ไขข้อข้องใจโดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ