294/1 Asia Building (11th Floor), Phyathai, Bangkok
เอชพีวีและหูดหงอนไก่ / HPV and genital wart / condyloma accuminata

HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์ ปัจจุบันพบว่ามีเชื้อชนิดนี้มากกว่า 100 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้เกิดหูดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ เชื้อ HPV บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น
อาการของโรคติดเชื้อเอชพีวี
ผู้ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ก่อนที่จะเกิดหูดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีหูดขึ้นอาจมีลักษณะของหูดที่ปรากฏแตกต่างกันตามสายพันธุ์ของไวรัส ดังนี้
- หูดชนิดทั่วไป มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่สัมผัสแล้วรู้สึกขรุขระ อาจมีสีเนื้อ สีขาว สีชมพู หรือสีน้ำตาลอ่อน มักขึ้นตามมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจสร้างความเจ็บปวดได้ในบางครั้ง และผิวหนังบริเวณที่เกิดหูดอาจบาดเจ็บหรือมีเลือดออกได้ง่ายกว่าปกติ
- หูดชนิดแบนราบ มีขนาดเล็ก พื้นผิวเรียบ สีของหูดเข้มกว่าสีผิวปกติและนูนขึ้นมาจากผิวหนังเล็กน้อย เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย หากเป็นเด็กมักพบตามใบหน้า ในผู้หญิงมักเกิดบริเวณขา ส่วนผู้ชายจะพบได้บ่อยบริเวณเครา
- หูดฝ่าเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง สัมผัสแล้วรู้สึกหยาบ มักขึ้นบริเวณส้นเท้าหรือเนินปลายเท้า และทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน
- หูดอวัยวะเพศ หรือเรียกว่าหูดหงอนไก่เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน
ทั้งนี้ การติดเชื้อ HPV ที่บริเวณปากมดลูกจากการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการปรากฏเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว ทางที่ดีจึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ เพื่อให้สามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
นอกจากนั้นการติดเชื้อ HPV ยังอาจก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน ได้แก่ มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก หรือมะเร็งช่องปากและลำคอส่วนบน ซึ่งล้วนไม่มีอาการบ่งบอก จนกว่าจะเข้าสู่ระยะลุกลาม บางรายอาจเกิดหูดหงอนไก่บริเวณทางเดินหายใจ หรือเกิดเยื่อบาง ๆ ภายในกล่องเสียงหลังจากติดเชื้อ 2-3 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีเสียงแหบ
สาเหตุของโรคติดเชื้อเอชพีวี
โรคติดเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน และสามารถแพร่ผ่านรอยแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หากมีการสัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย แม้กระทั่งในช่วงที่ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการก็ตาม ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อสู่บุตรระหว่างการคลอดได้ แต่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV ยิ่งขึ้น ได้แก่
-
- เด็กและวัยรุ่น โดยหูดทั่วไปมักพบได้มากในวัยเด็ก ส่วนหูดหงอนไก่มักพบในเด็กวัยเจริญพันธ์ุมากกว่าคนช่วงอายุอื่น
- หญิงและชายที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- มีแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
- สัมผัสหูดหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโดยไม่สวมถุงมือเพื่อป้องกัน
- อยู่ในสถานที่ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อเอชพีวี
หากผู้ป่วยมีหูดขึ้นตามผิวหนังและสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แพทย์สามารถวินิจฉัยโดยการตรวจดูลักษณะผิวหนังที่ผิดปกติได้ทันที แต่ในรายที่ไม่มีหูดขึ้นหรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แพทย์อาจใช้การวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
-
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Test) แพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์โดยใช้กล้องจุลทรรศ์
- การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อเอชพีวี (HPV DNA Test) คือการนำตัวอย่างเซลล์บริเวณอวัยวะเพศไปตรวจหาเชื้อเอชพีวีโดยตรง วิธีนี้นำมาใช้วินิจฉัยสายพันธุ์ของเชื้อได้เช่นกัน
- การตรวจปากมดลูกด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy) แพทย์จะสอดกล้องคอลโปสโคปขนาดเล็กที่มีกำลังขยายสูงเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ
- การทดสอบด้วยกรดอะซิติก (Acetic Acid Solution Test) สารละลายกรดอะซิติกจะทำปฏิกิริยากับเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติและเปลี่ยนบริเวณดังกล่าวให้เป็นสีขาว ซึ่งง่ายต่อการสังเกตเห็น
การรักษาโรคติดเชื้อเอชพีวี
ปัจจุบันการติดเชื้อ HPV ไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดเชื้อออกไปเอง ส่วนการรักษาความผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น มะเร็งหรือหูด จะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการที่พบ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือฉายรังสี ซึ่งการตรวจพบและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลามจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่มีหูดขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยา ดังนี้
-
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) เป็นยาสำหรับทาภายนอกที่ใช้รักษาหูดชนิดทั่วไป มีสรรพคุณช่วยให้ชั้นผิวหนังบริเวณที่เกิดหูดค่อย ๆ หลุดลอก แต่ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้รู้สึกระคายเคืองผิวและไม่ควรนำมาใช้กับใบหน้า
- ยาโพโดฟิลอก (Podofilox) มีสรรพคุณช่วยทำลายเนื้อเยื่อของหูด มักใช้กับหูดบริเวณอวัยวะเพศยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกเจ็บปวดและคันบริเวณผิวหนังที่ทายา
- ยาอิมิควิโมด (Imiquimod) มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเร่งกำจัดเชื้อ HPV แต่อาจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่ทายาเกิดอาการบวมแดงได้
- กรดไตรคลอโรอะซีติค (Trichloroacetic Acid) มักใช้สำหรับกำจัดหูดบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออวัยวะเพศ และอาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการระคายเคืองผิว
ทั้งนี้ หากการใช้ยาไม่ช่วยให้หูดยุบ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การผ่าตัดหูด การใช้เลเซอร์ การจี้ด้วยความเย็น การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการใช้ยาหรือกำจัดหูดด้วยวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัส HPV ให้หมดไป ผู้ป่วยจึงอาจกลับมาเป็นหูดซ้ำได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อเอชพีวี
นอกจากการติดเชื้อ HPV จะทำให้เกิดหูดหรือมะเร็งบางชนิด ผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดิมซ้ำจะเสี่ยงเกิดรอยโรคก่อนเกิดมะเร็ง ซึ่งสามารถกลายเป็นมะเร็งได้ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มีหูดขนาดใหญ่บริเวณอวัยวะเพศจนไปปิดกั้นช่องคลอดอาจคลอดบุตรยาก นอกจากนี้ เชื้อ HPV ที่อยู่ในร่างกายของมารดาอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เสี่ยงเกิดเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงบริเวณกล่องเสียง ทว่าเกิดขึ้นได้น้อยมาก
การป้องกันโรคติดเชื้อเอชพีวี
แพทย์มักแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 9-26 ปี ฉีดวัคซีน HPV ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 4 ชนิด และแนะนำให้ผู้หญิงอายุ 21-65 ปี ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพียงไม่กี่ข้อดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันการติดต่อและการแพร่กระจายของเชื้อได้
-
- สวมรองเท้าเมื่ออยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น สระว่ายน้ำสาธารณะ ห้องอาบน้ำรวม เป็นต้น
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อบริเวณอวัยวะเพศโดยตรง แต่วิธีนี้ไม่สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเชื้อชนิดนี้ติดต่อผ่านการสัมผัสและอาจสะสมอยู่ตามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ผู้ป่วยที่มีหูดตามร่างกายให้หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาหูด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่น
ที่มา : https://www.pobpad.com/hpv
หูดหงอนไก่ คืออะไร
หูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งมีมากกว่า 40 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้แก่ 16,18
สาเหตุ
HPV สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรงผ่านทางผิวหนังและเยื่อบุผิว เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
อาการ
HPV ทำให้เกิดติ่งเนื้อผิวขรุขระ ลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ แต่ไม่มีอาการเจ็บ ไม่คัน ไม่ระคายเคืองสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สามารถขึ้นได้ที่องคชาติ หนังหุ้มปลาย ทวารหนัก ช่องคลอด ปากมดลูก หากไม่ทำการรักษาจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และเกิดมะเร็งตามมา ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาติ เป็นต้น
การวินิจฉัย
หูดหงอนไก่สามารถวินิจฉัยได้เบื้องต้นจากการตรวจโดยแพทย์ โดยการติ่งเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา
การรักษา
การรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งที่เป็นหูด
- การทา Podophyllin 25%
- การทา TCA
- การทา Imiquimod 5%
- การผ่าตัด เช่น cryotherapy, electrosurgery
การป้องกัน
- การฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันมะเร็งที่เกิดจาก HPV ได้แล้ว (ป้องกันได้ 4 สายพันธ์คือ 6,11,16,18)
- การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
Make Appointment





Relate content :

ช่องคลอดอักเสบ: สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเพศสัมพันธ์
กำลังเผชิญกับปัญหาช่องคลอดอักเสบ? บทความนี้จะไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ยา PEP (เป๊ป) ราคาแพงไหม
ต้องการยา PEP? บทความนี้จะบอกทุกสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับยา PEP ตั้งแต่ราคา วิธีการใช้ ไปจนถึงสถานที่หาซื้อ
การรักษา HIV คู่มือสำหรับผู้มีความเสี่ยง
อย่าปล่อยให้ HIV ควบคุมชีวิตคุณ! คลิกอ่านเพื่อเรียนรู้วิธีดูแลตัวเองและมีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมเคล็ดลับดูแลสุขภาพ
ชุดตรวจ HIV ตรวจได้เองที่บ้าน
ชุดตรวจ HIV หรือ HIV self-test เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บุคคลสามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเบื้องต้นด้วยตนเองได้ที่บ้านหรือสถานที่ที่สะดวก โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล การตรวจ HIV ด้วยตนเองเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ยาเพร็พ (PrEP) ป้องกันเอชไอวีได้จริงหรือ? มาไขข้อข้องใจกัน
ปกป้องตัวเองจาก HIV ด้วยยาเพร็พ (PrEP) เพิ่มความมั่นใจในชีวิตด้วยการป้องกันที่ได้ผล ไขข้อข้องใจโดยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ