Search
Close this search box.

เชื้อราในช่องคลอด / Vaginal candidiasis

โรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis) เกิดจากการติดเชื้อราภายในช่องคลอดหรือบริเวณปากช่องคลอด ทำให้เกิดการระคายเคืองและอาการคันอย่างรุนแรง

อาการของโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดส่วนใหญ่ส่งผลให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง แต่บางคนอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ แม้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย เช่น

  • เกิดอาการคันอย่างรุนแรงและระคายเคืองที่ปากช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด
  • มีอาการแสบร้อน โดยเฉพาะในขณะมีเพศสัมพันธ์หรือการปัสสาวะ
  • ตกขาวผิดปกติ อาจมีลักษณะสีขาวข้นคล้ายนมบูด เป็นน้ำใส หรือขาวข้นจับตัวเป็นก้อน
  • บริเวณปากช่องคลอดมีอาการบวม แดง
  • เกิดผื่นแดงทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด อาจเกิดการกระจายไปทั่วบริเวณหัวหน่าว อวัยวะเพศ หรือต้นขา

ผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้ได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงเป็นสัปดาห์ หรืออาจนานเป็นเดือนในบางราย แต่พบได้ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายอาจมีอาการของโรคกลับเป็นซ้ำในช่วงก่อนมีประจำเดือนและอาจเป็นมากขึ้นหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ควรรีบพบแพทย์หากเป็นการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นครั้งแรก อาการที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้นหลังใช้ยารักษา หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย

นอกจากนี้ อาการอาจรุนแรงมากขึ้นหากไม่รีบรักษา ซึ่งสังเกตได้จากบริเวณที่เกิดการติดเชื้อมีอาการบวม แดง และคันอย่างรุนแรงมากขึ้นจนทำให้เกิดรอยแตกเป็นแผล มีอาการเจ็บหรือปวด ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดบ่อยมากกว่าปกติ หรือมากกว่า 4 ครั้งต่อปี

สาเหตุของโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดเกิดจากการเพิ่มจำนวนเชื้อรามากกว่าปกติภายในช่องคลอดจนทำให้สภาพภายในช่องคลอดเสียสมดุล โดยปกติเชื้อราเหล่านี้มักอาศัยอยู่ตามช่องปาก อวัยวะเพศ ระบบทางเดินอาหาร หรือบนผิวหนังของคนเราในปริมาณน้อยและไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อเชื้อราเหล่านี้มีปริมาณมากขึ้นจึงพัฒนาให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ เชื้อราที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออาจเกิดได้จากหลายสายพันธ์ุ แต่สายพันธ์ุที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในช่องคลอดได้มากที่สุดมีชื่อว่า แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราในกลุ่ม แคนดิดา (Candida) ส่วนเชื้อราสายพันธุ์อื่นที่พบได้ไม่บ่อยอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้มากขึ้น และต้องอาศัยการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น

การเพิ่มจำนวนเชื้อราอย่างรวดเร็วมาจากหลายสาเหตุดังนี้

  • การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ซึ่งจะไปลดปริมาณแบคทีเรีย แลคโตบาซิลลัส และทำให้ค่าความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอดเสียสมดุล
  • การตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้
  • สภาวะของร่างกายที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  • เป็นโรคทางผิวหนังอื่น ๆ นำมาก่อน เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังอื่น ๆ
  • การรับประทานยาบางประเภท
  • มีภาวะโรคอ้วน
  • การรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัดหรือการรับประทานยาคุมกำเนิดในปริมาณสูง ซึ่งจะไปเพิ่มระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • การสวนล้างช่องคลอดหรือการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยบริเวณช่องคลอดบ่อย ๆ อาจทำให้เสียสมดุลภายในช่องคลอด

การเกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นปัญหาที่พบมากในผู้หญิง โดยผู้หญิงทุก 3 ใน 4 คนเคยเป็นโรคเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต นอกจากนี้ การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงก่อนการมีประจำเดือน หรือบางรายอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์ แต่ตัวโรคยังไม่จัดว่าเป็นโรคติดติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อไปสู่ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย รวมไปถึงผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็อาจมีโอกาสในการพัฒนาโรคให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน

การวินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอด

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอดได้ตามขั้นตอนดังนี้

  • สอบถามข้อมูลและประวัติทางการแพทย์ ในขั้นแรกจะมีการสอบถามข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย อาการผิดปกติที่พบ ลักษณะของตกขาว เคยมีประวัติเกิดการติดเชื้อราหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่
  • การตรวจภายใน แพทย์จะตรวจดูลักษณะภายนอกของอวัยวะเพศและบริเวณรอบ ๆ เพื่อหาความผิดปกติที่บ่งบอกว่าเกิดการติดเชื้อ ซึ่งบางรายสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่การสังเกตดูลักษณะภายนอก แต่ในบางรายแพทย์อาจจะต้องตรวจหาความผิดปกติจากภายในช่องคลอดอีกครั้งด้วยการสอดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่าปากเป็ดเข้าไปภายในช่องคลอด เพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งหรือตกขาวออกมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
  • การตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่ง มักจะใช้ในกรณีตรวจวินิจฉัยผู้ที่เกิดการติดเชื้อบ่อย ๆ หรืออาการของโรคไม่ดีขึ้น โดยแพทย์จะนำตัวอย่างที่เก็บได้ภายในช่องคลอดออกมาตรวจหาประเภทเชื้อราที่ทำให้เกิดอาการของโรค ซึ่งจะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีการกลับมาของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดสามารถรักษาได้โดยการใช้ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug) เป็นหลัก โดยรูปแบบของยาอาจจะมีทั้งแบบครีม ขี้ผึ้ง ยาเหน็บ หรือยารับประทาน เช่น ยาคลอไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาไมโคโนโซล (Miconazole) ยาไทโอโคนาโซล (Tioconazole) ยาบูโตโคนาโซล (Butoconazole) ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) หรือยากรดบอริก (Boric acid) ซึ่งการเลือกใช้ยาควรต้องมีการพิจารณาระดับความรุนแรงของโรคและประเภทของเชื้อราที่ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นด้วย ส่วนระยะเวลาในการใช้ยาจะแตกต่างกันไปตามความแรงของยาและการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษา

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไม่รุนแรงสามารถซื้อยาต้านเชื้อราที่ขายทั่วไป ควบคู่กับการดูแลตนเองได้จากที่บ้านโดย  

  • ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเชื้อราทาช่องคลอดในช่วงที่มีประจำเดือน ควรเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นแทนการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดเป็นประจำ แต่ควรใช้น้ำสะอาดทำความสะอาดแทน
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจส่งผลให้อาการติดเชื้อแย่ลง
  • หากมีความรู้สึกเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ผลิตภัณฑ์เจลหล่อลื่นที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักในขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดการระคายเคือง
  • หากบริเวณอวัยวะเพศมีอาการบวมและเจ็บ ไม่ควรเกาหรือถูแรง ๆ แต่อาจนั่งแช่น้ำอุ่น เพื่อช่วยบรรเทาอาการ หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่มีอาการ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการซื้อยามาใช้เองควรปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง ก่อนการใช้ยาควรศึกษาวิธีอย่างละเอียดและควรใช้ยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจนครบปริมาณที่แนะนำ ไม่ควรหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันแม้ว่ามีอาการดีขึ้น รวมไปถึงควรระมัดระวังการใช้ยาบางประเภทที่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์อย่างชัดเจนว่ามีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อรา เช่น การทาน้ำมันทีทรี (Tea Tree Oil) บริเวณช่องคลอด หรือการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกระเทียม เนื่องจากอาจส่งผลให้อาการติดเชื้อแย่ลงได้

แต่ในกรณีที่อาการมีความรุนแรงมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ผู้ป่วยอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เป็นอาการติดเชื้อครั้งแรก เกิดอาการแพ้ อาการของโรคไม่ดีขึ้น หรือมีความกังวลว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจยืนยันผล และรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งอาจต้องมีการใช้ยารักษาในปริมาณที่สูงขึ้นและรักษานานต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยป้องกันการกลับมาของโรค อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งภายในระยะเวลา 2 เดือนหลังอาการหายขาดอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกจากโรคอื่นได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราภายในช่องคลอดค่อนข้างพบภาวะแทรกซ้อนได้น้อย โดยทั่วไปมักเกิดการถลอกของผิวหนังจนอาจเป็นแผล เนื่องจากอาการคันและเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ผิวหนังได้โดยง่าย ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นใหม่อีกครั้งหลังการรักษา หรือไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด เนื่องจากตัวยาไม่ตอบสนองต่อโรค ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมา

การป้องกันโรคเชื้อราในช่องคลอด

การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในบางกรณีบอกได้ยากว่าเกิดมาจากสาเหตุใด เพราะแต่ละบุคคลก็มีปัจจัยความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป การป้องกันโรคจึงเป็นการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดของโรคตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เลือกสวมใส่กระโปรง กางเกง หรือกางเกงชั้นที่ไม่รัดแน่นมากเกินไป รวมไปถึงเลือกเนื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติที่มีการถ่ายเทของอากาศได้ดี ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความอับชื้นจนเพิ่มจำนวนเชื้อราขึ้นได้โดยง่าย
  • ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความอับชื้นเป็นเวลานาน ควรรีบเปลี่ยนชุดออกทันที เช่น ชุดว่ายน้ำ ชุดออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นหรือการสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินความจำเป็น
  • รับประทานอาหารประเภทโยเกิร์ตหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งจะช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอด
  • ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีความจำเป็น  
  • ในช่วงมีประจำเดือนควรมีการเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอับชื้นที่เป็นที่อยู่ของเชื้อรามากขึ้น

ที่มา : https://www.pobpad.com/เชื้อราในช่องคลอด

เชื้อราในช่องคลอดเป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อราทำให้มีอาการคันและมีตกขาวผิดปกติได้

เกิดจากการติดเชื้อราและมีการเพิ่มจำนวนมากผิดปกติภายช่องคลอด โดยพบมากที่สุดคือเชื้อรา Candida albicans ปกติสามารถพบเชื้อราได้อยู่แล้วแต่มีปริมาณน้อยและไม่ทำให้เกิดโรค แต่เมื่อมีการเสียสมดุลของแบคทีเรียแลคโตบาซิไลก็ทำให้เชื้อรามีเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติจนทำให้เกิดอาการผิดปกติได้

อาการมีได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงอักเสบ บางคนอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ หรือเป็นๆ หายๆ อาการที่พบได้ ได้แก่ ตกขาวมีกลิ่นหรือสีผิดปกติ ระคายเคืองและคันปากช่องคลอด มีการอักเสบผิวหนังบริเวณผิวหนังรอบข้างหรือขาหนีบ รู้สึกเจ็บหรือปวดช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์

สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจภายในเพื่อดูลักษณะของตกขาว ดูการอักเสบภายในช่องคลอดและผิวหนังรอบๆ และอาจมีการนำตกขาวหรือสาคัดหลั่งในช่องคลอดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

สามารถรักษาหายขาดได้ โดยแพทย์จะให้ยาต้านเชื้อรา โดยมีหลายแบบ ได้แก่ ยากิน ยาเหน็บ ครีมทาภายนอก ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ และนัดติดตามอาการเพื่อประเมินอีกครั้ง

เนื่องจากเชื้อราในช่องคลอดก็สามารถเป็นได้แม้จะไม่มีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงแนะนำให้ดูแลตัวเองดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะหากไม่จำเป็น
  2. ไม่สวนล้างบ่อยจนเกินไป หรืองดใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ้อนเร้น
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือผ้าอนามัยที่มีน้ำหอม
  4. ในช่วงที่มีประจำเดือน ควรเปลี่ยนอนามัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความอับชื้น

Relate content :

422894572_706683161447546_1749712271998229747_n

ฉีดวัคซีนงูสวัดที่ glove clinic

S__2465807

ทอนซิลอักเสบจากเริม

03_service

ตรวจ HIV รีวิวความรู้สำหรับการตรวจเอชไอวี (HIV test)

เอชไอวีคือไวรัสที่สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน, แล...
S__2236423

ปีนี้มีคนไข้ป่วยด้วยไข้เลือดออกมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา

S__14558014_0

HIV แต่กำเนิด

ประเด็นร้อนที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ที่มีข้อความของนักศึกษาหญิงเปิด...
partial view of biochemist holding test tubes with blood samples

อาการของเอดส์เป็นอย่างไร ทำความรู้จักกับเอดส์

แท้จริงแล้วเอดส์ไม่ใช่โรค หากแต่คือระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV ซึ่ง HIV นั่นเอ...

Tag :

We use cookies to improve performance. and good experience using your website. You can study details at Privacy Policy and can manage your own privacy by clicking on Settings

Privacy Preferences

You can choose your cookie settings by turning them on/off. Cookies of each type are available on request, except essential cookies.

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Strictly necessary cookies
    Always Active

    These types of cookies are essential for the website to function. so that you can use it normally and visit the website You cannot disable cookies in our website system.

  • คุกกี้ที่จำเป็น

    These types of cookies are essential for the website to function. so that you can use it normally and visit the website You cannot disable cookies in our website system.

Save