294/1 Asia Building (11th Floor), Phyathai, Bangkok
โรคหนองในเทียม / Non-gonococcal infection
หนองในเทียม คืออะไร
หนองในเทียม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นๆ ที่ไม่ใช่หนองในแท้ ได้แก่
- Chlamydia trachomatis พบมากที่สุด
- Ureaplasmaurealyticum / parvum พบรองลงมา
- Mycoplasmagenitalium / hominis พบได้น้อย
สาเหตุ
หนองในสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสเยื่อบุผิวตามอวัยวะต่างๆ เช่น องคชาต ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก ช่องปาก ลำคอโดยเชื้อจะอยู่ในสารคัดหลั่งรวมไปถึงน้ำอสุจิด้วย หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยก็สามารถติดเชื้อมาได้โดยตรง
อาการ
โรคหนองในเทียมจะมีระยะฟักตัวนานกว่าหนองในแท้ จะมีอาการตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป บางคนอาจไม่มีอาการเป็นเดือนๆ หรือไม่มีอาการ
ผู้ชาย :มีอาการคันในท่อปัสสาวะ มีน้ำใสๆไหลออกมา ระยะต่อมาน้ำจะเหนียวข้นและเป็นหนองตามมา
ผู้หญิง :อาการไม่ได้แสดงชัดเจนมาก ตกขาวมีสีหรือกลิ่นผิดปกติ ปัสสาวะแสบขัด บางรายมีช่องคลอดอักเสบ
อาการโดยรวมจะไม่รุนแรงเท่าเหนองในแท้ แต่ก็ทำให้อาการเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้เช่นกัน
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจปัสสาวะ หนอง และตกขาว โดยแพทย์จะทำการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆ
การรักษา
หนองในเทียมสามารถรักษาให้หายขาดได้ และสามารถติดมาใหม่ได้เช่นกัน การรักษาคือการฉีดยาและกินยาปฏิชีวนะ หลังรักษาอาการจะดีขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาด้วย นอกจากนี้ควรพาคู่นอนมารักษาด้วยเช่นกัน
การป้องกัน
ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หากมีความเสี่ยงก็ควรรีบมาตรวจเลือดและรีบทำการรักษาเพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น
หนองในเทียม (Chlamydia) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นจากการรับเชื้อแบคทีเรียผ่านจากคู่นอนที่ติดเชื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมูกใสหรือหนองที่บริเวณอวัยวะเพศ หนองในเทียมอาจไม่ปรากฏอาการที่ชัดเจนในผู้ป่วยบางราย และเป็นโรคที่พบมากในวัยรุ่น สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิง หนองในเทียมและหนองในแท้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคนละชนิด หนองในแท้เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria Gorrhoese) โดยที่หนองในทั้ง 2 ชนิดจะแสดงอาการคล้ายกัน แต่หนองในเทียมมักไม่ค่อยมีอาการหรือมีอาการรุนแรงน้อยกว่า และมีระยะการฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียนานกว่าหนองในแท้
สาเหตุของหนองในเทียม
หนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันกับผู้ที่ติดเชื้อ เชื้อสามารถแพร่ติดต่อได้หลายทาง เช่น ทางอวัยวะเพศ ทางทวารหนัก ทางปาก หรือแม้กระทั่งทางตา หากมีสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ติดเชื้อกระเด็นใส่ รวมไปถึงการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์
อาการของหนองในเทียม
อาการของหนองในเทียม ในช่วงแรกอาจจะยังไม่แสดงอาการให้พบเห็น หลังได้รับเชื้อแล้วในระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ จะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปตามเพศ โดยมีลักษณะดังนี้
อาการหนองในเทียมในเพศชาย โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยในเพศชายจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
- มีมูกใสหรือขุ่นไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ ซึ่งไม่ใช่ปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ
- มีอาการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกปวดหรือมีการบวมที่ลูกอัณฑะ
อาการหนองในเทียมในเพศหญิง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มีเพียง 30% ของผู้ป่วยในเพศหญิงที่จะมีอาการ มักแสดงอาการดังต่อไปนี้
- มีตกขาวลักษณะผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกเจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- รู้สึกคันหรือแสบร้อนบริเวณรอบอวัยวะเพศ
- รู้สึกเจ็บท้องน้อยเวลามีประจำเดือนหรือขณะมีเพศสัมพันธ์
สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางอื่น ๆ เช่น ทางทวารหนัก หรือทางปากกับผู้ที่ติดเชื้อ ก็สามารถแสดงอาการได้ คือ เจ็บ ปวด มีเลือดไหล หรือมีหนองที่บริเวณทวารหนัก และรู้สึกเจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางปากได้เช่นเดียวกัน
เมื่อสำรวจแล้วพบว่ามีอาการข้างต้น หรือเมื่อรู้ว่าคู่นอนติดเชื้อ ควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์และรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษา โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ควรเข้ารับการตรวจหนองในเทียมเป็นประจำทุกปี รวมทั้งผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปี ที่มีพฤติกรรมมีเพศสัมพันธ์แบบสุ่มเสี่ยง คือมีหลายคู่นอน หรือไม่ป้องกัน
การวินิจฉัยหนองในเทียม
ขั้นแรกแพทย์จะซักประวัติและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย จากนั้นจะทำการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจ การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งสามารถทำได้ 2 วิธี ดังต่อไปนี้
- การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swap Test) คือการใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
- การทดสอบปัสสาวะ (Urine Test) คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1-2 ชั่วโมง
โดยปกติ การวินิจฉัยโรคจะเสร็จสิ้นภายใน 1 วัน และจะทราบผลหลังการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งประมาณ 7-10 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหรือพบประวัติทางเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์จะให้ทำการรักษาทันที
การรักษาหนองในเทียม
การรักษาหนองในเทียมสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย
ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหลังได้รับการรักษาในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยในเพศหญิงอาจมีอาการติดเชื้อหนองในเทียมขั้นรุนแรง แพทย์อาจจ่ายยาด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือด ในระหว่างนี้ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา แม้จะมีการใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน และสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาแบบครั้งเดียว ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และรับประทานยาจนครบตามแพทย์สั่ง ถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หลังจากนั้น 3 เดือน ควรกลับไปตรวจอีกครั้ง เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเกิดซ้ำ ร่วมกับการตรวจคัดกรองหาเชื้อในคู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันภายใน 6 เดือนที่ผ่านมาด้วย
หนองในเทียมในหญิงตั้งครรภ์และเด็ก
หากติดเชื้อหนองในเทียมในระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก ส่งผลทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ตาและปอดได้ หากมารดาไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ หรือแท้งได้ และอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุทำให้มีบุตรยากอีกด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของหนองในเทียม
ภาวะแทรกซ้อนของหนองในเทียมจะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปตามเพศของผู้ป่วย โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
ภาวะแทรกซ้อนในเพศชาย
- อัณฑะอักเสบหรือต่อมลูกหมากติดเชื้อ หนองในเทียมในเพศชายสามารถแพร่กระจายไปที่ลูกอัณฑะ หลอดเก็บน้ำอสุจิ และต่อมลูกหมาก ทำให้มีอาการปวดหรือบวม มีไข้หนาวสั่น เจ็บที่อวัยวะเพศขณะปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด ปวดเอว และเกิดอาการปวดในระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ อาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ ถ้าปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อาจทำให้เป็นหมันได้
- ข้ออักเสบ หรือที่รู้จักในชื่อ โรคไรเตอร์ หรือข้ออักเสบไรเตอร์ (Reiter Syndrome) หลังจากเป็นหนองในเทียมในช่วงไม่กี่สัปดาห์ อาจมีอาการตามมาด้วยคือข้ออักเสบ รวมไปถึงทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือตาอักเสบ อาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใส่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) จำพวกไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) โดยส่วนมากแล้วอาการนี้จะเกิดในเพศชาย แต่ก็สามารถเกิดในเพศหญิงได้เช่นเดียวกัน
ภาวะแทรกซ้อนในเพศหญิง
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ หนองในเทียมในเพศหญิงสามารถแพร่กระจายไปยังมดลูกและรังไข่ได้ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ปวดท้องน้อยขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกในขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ อาการเหล่านี้จะส่งผลทำให้เกิดภาวะการมีบุตรยาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก อาการนี้สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์
การป้องกันหนองในเทียม
การป้องกันหนองในเทียมที่เห็นผลที่ดีที่สุดคือการลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ โดยเฉพาะการรับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือปฏิบัติตัวตามวิธีการดังต่อไปนี้
- ใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ สามารถช่วยป้องกันหนองในเทียมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ถึง 99%
- มีคู่นอนเพียงคนเดียว การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นหนองในเทียมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างภายในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง เพราะจะเป็นการลดจำนวนแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อช่องคลอด และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- หนองในเทียมจะไม่ติดต่อผ่านการจูบ การกอด การใช้ช้อนส้อม การใช้สระว่ายน้ำ การใช้ห้องน้ำหรือห้องอาบน้ำร่วมกับผู้ป่วย
- ควรหมั่นไปพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Make Appointment